ยุโรปสั่งปรับเฟซบุ๊ก 4.5 หมื่นล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ฐานส่งข้อมูลส่วนบุคคลผู้ใช้ชาวยุโรปข้ามทวีปไปยังอเมริกา เชื่อว่าบริษัทไม่สามารถคุ้มครองข้อมูลชาวยุโรปได้อย่างเพียงพอ เสี่ยงต่อการถูกสอดแนมจากหน่วยงานรัฐของสหรัฐฯ
กรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลแห่งไอร์แลนด์ หรือ Ireland’s Data Protection Commission (DPC) ปรับ Meta บริษัทเจ้าของเฟซบุ๊กเป็นเงิน 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 4.5 หมื่นล้านบาท) สูงที่สุดเท่าที่เคยปรับเงินในคดีลักษณะเดียวกัน และสั่งให้ระงับการถ่ายโอนข้อมูลส่วนบุคคลชาวยุโรปไปยังอเมริกาภายใน 5 เดือน รวมถึงสั่งให้เลิกเก็บและลบข้อมูลชาวยุโรปออกจากเซิร์ฟเวอร์ในสหรัฐฯ ทั้งหมดภายใน 6 เดือน หลังเคยมีประเด็นร้องเรียนช่วงปี 2013 เกี่ยวกับโครงการสอดแนมมวลชนของสหรัฐฯ และเมื่อปี 2020 ยุโรปก็ได้ยกเลิกสนธิสัญญาส่งข้อมูลข้ามแอตแลนติกที่รู้จักกันในชื่อ Privacy Shield เพราะพบว่ามันไม่อาจป้องกันการสอดแนมจากหน่วยงานของสหรัฐฯ ได้
อย่างไรก็ดี คำสั่งดังกล่าวไม่มีผลต่อแอปฯ อื่น ๆ ที่ Meta เป็นเจ้าของ เช่น Instagram และ WhatsApp ทั้งนี้ Meta ระบุว่าจะยื่นอุทธรณ์คำตัดสินดังกล่าวเนื่องจากบริษัทมองว่า “ไม่เป็นธรรม และค่าปรับสูงเกินจำเป็น” และเห็นว่านี่เป็นปัญหาทางกฎหมายระหว่างสหรัฐฯ และยุโรป ไม่ใช่ปัญหาด้านมาตรการคุ้มครองข้อมูลของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง รวมถึงปัจจุบันก็อยู่ระหว่างการเจรจาต่อรองด้านกฎหมายถ่ายโอนข้อมูลระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ และยุโรปอยู่ ซึ่งคาดว่าจะสำเร็จลุล่วงในช่วงฤดูร้อน หรือช้าสุดก็ช่วงเดือนตุลาคมที่จะถึง
Ref: theverge.com, about.fb.com