นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Cambridge ประสบความสำเร็จในการผลิตแบตเตอรี่ราคาถูกสำหรับคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก โดยใช้ประโยชน์จากการสังเคราะห์แสงของสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน
เมื่อปีที่แล้ว คุณ Christopher Howe หัวหน้าทีมนักวิจัยจากแล็ป Howe ของมหาวิทยาลัย Cambridge ได้ร่วมมือกับเหล่านักวิจัยท่านอื่น ๆ ในทีมและสร้างแบตเตอรี่ขนาด AA แบบใหม่ขึ้นมาได้สำเร็จ โดยตัวกล่องของแบตเตอรี่นั้นประกอบขึ้นจากอะลูมิเนียมที่ทนทานกับพลาสติกโปร่งใสเพื่อให้แสงสามารถส่องผ่านสู่ภายในกล่องที่มีโคโลนีของไซยาโนแบคทีเรียหรือที่หลาย ๆ ท่านคงจะรู้จักในชื่อสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินบรรจุอยู่
นับตั้งแต่กุมภาพันธ์ จนถึงเดือนสิงหาคมปี 2021 ทีมวิจัยของพวกเขาได้ทดลองนำอุปกรณ์ตัวนี้ไปวางไว้ตรงขอบหน้าต่างของคุณ Paolo Bombelli ซึ่งเป็นสมาชิกทีมท่านหนึ่ง เพื่อทำการเก็บข้อมูลประสิทธิภาพของสิ่งประดิษฐ์นี้ โดยทีมวิจัยได้ทำการติดตั้งแบตเตอรี่ดังกล่าวเข้ากับคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กที่ใช้ชิปประมวลผล Arm Cortex-M0+ ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องการกินไฟน้อยและมักถูกใช้ในวงการ IoT โดยพวกเขาปล่อยให้คอมพิวเตอร์ดังกล่าวทำการคำนวณค่าต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับเก็บข้อมูลปริมาณกระแสไฟฟ้าที่แบตเตอรี่ผลิตได้ไปด้วย ผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลที่เก็บได้ทำให้พวกเขาพบว่า ตลอดระยะเวลาหกเดือนที่ผ่านมา เจ้าแบตเตอรี่ดังกล่าวนี้มีประสิทธิภาพมากพอที่จะผลิตไฟฟ้าให้กับคอมพิวเตอร์ขนาดจิ๋วที่ทำงานอยู่อย่างต่อเนื่องโดยไม่ติดขัด แถมมันยังคงผลิตไฟฟ้าต่อไปแม้จะผ่านไปเกินหกเดือนแล้วก็ตาม
นอกจากคุณสมบัติที่กล่าวมาแล้ว ทางทีมวิจัยก็ได้ทดลองต่อยอดด้วยการใช้วัสดุเหลือใช้อย่างขวดพลาสติกในการสร้างแบตเตอรี่สาหร่ายขึ้นมา ซึ่งผลการทดลองก็ทำให้พวกเขามั่นใจว่าการผลิตแบตเตอรี่ชนิดนี้จากวัสดุต้นทุนต่ำนั้นเป็นไปได้ แถมเหล่านักวิจัยยังเชื่อว่าแบตเตอรี่ชนิดนี้จะสามารถผลิตไฟฟ้าต่อได้แม้จะไม่ได้รับแสงอาทิตย์ไปสักพักเพราะสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินที่อยู่ภายในกล่องมีคุณสมบัติพิเศษที่จะสังเคราะห์อาหารขึ้นเองได้ระดับหนึ่ง
อนึ่ง แม้แบตเตอรี่ดังกล่าวนี้ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนวิจัยและพัฒนา แต่ทีมวิจัยก็คาดว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะเสร็จสมบูรณ์พอที่จะวางจำหน่ายได้ภายในห้าปีและมันจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าที่มากพอจะใช้ชาร์จแบตโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์อื่น ๆ เช่น เซนเซอร์ตรวจวัดสภาพแวดล้อม (ตัววัดอุณหภูมิ วัดความชื้นในอากาศ ฯลฯ)
เรื่องน่ารู้ สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินเป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวชนิดแรก ๆ ที่สังเคราะห์ด้วยแสงได้ พวกมันอาศัยอยู่แถบทุกส่วนของโลกและมีตัวตนอยู่บนโลกนี้มานานหลายพันล้านปีแล้ว โดยนักวิชาการเชื่อว่าพวกมันเป็นตัวแปรสำคัญที่ช่วยปรับสภาพโลกในยุคแรกเริ่มให้มีออกซิเจนมากขึ้นอันส่งผลให้โลกที่เราอยู่ทุกวันนี้เต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิด จะว่ามนุษย์โลกและสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ บนโลกเป็นหนี้บุญคุณสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินก็ว่าได้
Source: newscientist.com, pcgamer.com, pubs.rsc.org