เป็นข่าวดุเดือดมาตั้งแต่ต้นเดือนกรณีอีลอน มัสก์ต้องการซื้อบริษัททวิตเตอร์เพื่อนำไปบริหารให้เดินตามแนวทางที่เคารพหลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นแต่บอร์ดบริหารไม่อยากขาย ประกาศจะต่อต้านทุกวิถีทาง อย่างไรก็ดี ล่าสุดบอร์ดอนุมัติขายทั้งบริษัทให้มัสก์แล้ว โดยมัสก์จะมุ่งกำจัดบัญชีปลอมและบังคับผู้ใช้ระบุตัวตนเป็นอย่างแรก ๆ
ย้อนกลับไปช่วงกลางเดือน การตอบโต้ครั้งสุดท้ายของคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) เพื่อป้องกันการเข้าซื้ออย่างไม่เป็นมิตรของมัสก์คือ “การวางยา (Poison pill)” ซึ่งเป็นศัพท์ธุรกิจที่จะเพิ่มปริมาณหุ้นในตลาดให้ผู้ที่ต้องการครอบครองบริษัททำได้ยากขึ้น อย่างไรก็ดี บอร์ดไม่ได้ปิดกั้นการเจรจากับมัสก์หากข้อตกลงเป็นประโยชน์กับผู้ถือหุ้นทุกคนบอร์ดก็พร้อมขายบริษัทให้
ล่าสุดข้อตกลงระหว่างบอร์ดและมัสก์บรรลุผล มหาเศรษฐีรายนี้สามารถซื้อทั้งบริษัทไปได้ด้วยเงินจำนวน 43.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือราว 1.5 ล้านล้านบาท) ซึ่งเป็นยอดเดิมที่เขาเคยเสนอซื้อตั้งแต่แรกและยืนยันว่าเป็นข้อเสนอสุดท้าย โดยมัสก์จะเอาบริษัทออกจากตลาดหลักทรัพย์ย้ายจากบริษัทมหาชนกลับมาเป็นเอกชน และสิ่งแรก ๆ ที่เขาจะทำคือกำจัดบัญชีปลอมต่าง ๆ และผู้ใช้ทุกคนต้องยืนยันตัวตน ฉะนั้นแอคหลุม แอคสำรอง หรือกระทั่งบรรดา io ที่ใช้ในปฏิบัติการทางทหารของชาติต่าง ๆ จะหายไป ทั้งนี้ เขายังคงมุ่งมั่นจะทำให้ Twitter กลายเป็นแพลตฟอร์มที่เคารพเสรีภาพในการพูด ซึ่งมัสก์ระบุว่าเขาไม่ได้จะให้ใครพูดหรือพิมพ์อะไรก็ได้อย่างที่หลายคนกลัวว่าจะเกิดการผลิตข่าวปลอมกันอย่างแพร่หลายแต่เขาเคารพหลักเสรีภาพในการพูดบนพื้นฐานของกฎหมาย และต่อต้านการปิดกั้นหรือเซนเซอร์ที่ไปไกลกว่ากฎหมายอนุญาตให้ทำต่างหาก
“หากผู้คนต้องการเสรีภาพในการพูดที่น้อยลง พวกเขาจะร้องขอให้รัฐบาลออกกฎหมายเพื่อผลนั้น ดังนั้นการกระทำเหนือกฎหมาย (การเซนเซอร์) จึงขัดเจตจำนงของประชาชน”
Source: engadget.com, twitter.com