สองสิ่งที่มนุษย์ไม่อาจหนีพ้นคือความตายและ “ภาษี” อีก 7 เดือนนับต่อแต่นี้ (1 ก.ย.) เตรียมจ่าย Vat 7% เมื่อใช้จ่ายบริการแพลตฟอร์มต่างประเทศ เช่น ยูทูบ, เฟซบุ๊ก, เน็ตฟลิกซ์ หรือกระทั่งซื้อเกม ฯลฯ สรรพากรชี้ตั้งเป้ารายได้ 5 พันล้านบาทต่อปี เอาภาษีไปพัฒนาประเทศ
เมื่อเทคโนโลยีไปไกลกว่ากฎหมาย บริการออนไลน์ต่างชาติจึงกอบโกยกำไรได้โดยไม่ต้องยุ่มย่ามเรื่องภาษี เพราะเนื้อแท้บริษัทต่าง ๆ อย่างเช่น Steam, Ubisoft หรือร้านเกมน้องใหม่อย่าง Epic Games Store ก็ล้วนมีที่ตั้งอยู่ห่างไปไกลอีกซีกโลกนึงจากประเทศไทยทั้งสิ้น ต้องขอบคุณสายไฟเบอร์ที่พาสินค้าดิจิตอลหลั่งไหลมาให้เราเลือกซื้ออย่างไม่หวาดไม่ไหว อย่างไรก็ดีหลายรัฐทั่วโลกไม่พอใจเพราะบริษัทเหล่านี้ไม่เคยเสียภาษีทั้งที่มีเงินสะพัดมหาศาล
เมื่อเก็บภาษีเงินได้จากแพลตฟอร์มต่างชาติไม่ได้ ไทยจึงแสวงหาหนทางเก็บภาษีอื่น ๆ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) ซึ่งปกติธุรกิจในประเทศต้องเรียกเก็บจากลูกค้า 7% จากราคาสินค้าที่ขายเพื่อนำส่งให้รัฐอยู่แล้ว แต่บริการจากแพลตฟอร์มต่างชาติกลับไม่เคยเก็บเงินส่วนนี้จากลูกค้าส่งให้รัฐบาลไทยเลย กฎหมายภาษี E-Service จึงถือกำเนิดขึ้น โดยได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาบังคับใช้เป็นกฎหมายเป็นที่เรียบร้อย มีผล 1 ก.ย. ที่จะถึงนี้ เก็บภาษีจากทุกบริษัทที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี แน่นอนภาษีนี้คนไทยนั้นเองเป็นคนจ่าย บริษัทต่างชาติมีหน้าที่เพียงเรียกเก็บเงินเพิ่ม 7% จากเราทุกคนส่งให้รัฐก็เท่านั้น (เตรียมซื้อเกมแพงขึ้นอีก 7% ได้เลย)
ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวมีขึ้นเพื่อสร้างความเท่าเทียมทางธุรกิจเท่านั้น เพราะเดิมบริษัทจากนอกประเทศมีข้อได้เปรียบเรื่องราคาสินค้าเพราะไม่มีการบวก 7% เข้าไปจึงอาจตั้งราคาขายสินค้าได้ถูกกว่าบริษัทที่จดทะเบียนในไทย ฉะนั้นเมื่อเก็บภาษีกันถ้วนหน้าจะทำให้ค้าขายได้อย่างยุติธรรม
อนึ่ง เราเคยเขียนอธิบายสาเหตุที่ไทยต้องร่างกฎหมายนี้ขึ้นแบบลึก ๆ ไว้ในบทความ “ภาษี E-Service กระทบคนเล่นเกมอย่างไร กระเทือน บ. เกมไหม” ใครสนใจลองตามไปอ่านดูนะ