เมื่อไม่กี่วันก่อนคุณสันติ โหลทอง นายกสมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย (TESF) ออกมาเผยรายละเอียดร่างกฎหมายกำกับดูแลเกม หรือชื่อเต็ม “ร่างพระราชบัญญัติการกำกับดูแลเกมและการประกอบกิจการเกมเพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชน” ผ่านไลฟ์สดบนเฟซบุ๊กส่วนตัว แน่ล่ะ มีสื่อหลายเจ้าเอาข่าวไปกระจายต่อเป็นที่เรียบร้อย โดยส่วนใหญ่เน้นถึงประเด็นการแข่งขันอีสปอร์ตภายในสถานศึกษา อย่างไรก็ดีถึงชื่อจะพ่วงท้ายว่า “เด็กและเยาวชน” แต่ร่างกฎหมายดังกล่าวกระทบคนเล่นเกมทุกคนนะจ๊ะ โดยเฉพาะเรื่องการจัดเรตอายุและเกมที่ต้องห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักรไทย บอกเลยว่าอ่านจบต้องมีคนโอดครวญแน่นอน ทั้งนี้เพื่อเป็นการเปรียบเทียบผู้เขียนจะอ้างอิงการจัดเรตของสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และยุโรปมาประกอบการอ่านด้วย ณ ที่นี้
หมายเหตุ: ร่างกฎหมายยังไม่ถือเป็นกฎหมาย อาจปรับปรุงแก้ไขก่อนนำเข้าสภาได้ทุกเมื่อ หากไม่เห็นด้วยหรืออยากให้แก้ไขประเด็นใดโปรดส่งเสียงของท่านไปที่สมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย (เขาไม่ได้ร่างกฎหมายเอง แต่เขาจะส่งเสียงของท่านต่อไปยังผู้มีอำนาจให้)
หน่วยงานรัฐยกมาเป็นกองทัพ (กองทัพจริง ๆ ก็มา) ร่วมกับเอกชนเริ่มร่างกฎหมายนี้มา 2 ปีแล้ว ได้แก่
- กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
- กรมกิจการเด็กและเยาวชน
- กระทรวงวัฒนธรรม
- สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว
- กระทรวงศึกษาธิการ
- สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
- กระทรวงมหาดไทย
- กระทรวงกลาโหม
- กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
- กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
- การกีฬาแห่งประเทศไทย
- ตัวแทนจากเอกชน เช่น เครือข่ายมือถือ, ตัวแทนร้านอินเทอร์เน็ต และบริษัทเกม ฯลฯ
แบ่งเรตเกมตามอายุผู้เล่น
ในร่างกฎหมายนี้ ไทยใช้วิธีแบ่งเรตเกมตามอายุเฉกเช่นสากลโลก มีทั้งหมด 5 ระดับอายุ โดยมีเรตพิเศษลำดับที่ 6 สำหรับเกมที่ห้ามจำหน่ายในประเทศไทยเพราะมันไม่เหมาะกับศีลธรรมอันดี ประเพณีงดงาม ความเป็นไทยอันมีจรรยา ไม่ได้ ๆ รัฐจะไม่ให้นายเล่นเกมเหล่านี้หรอก!
- เกมที่เหมาะสำหรับเด็กอายุ 3 ปี เป็นต้นไป – จะต้องไม่มีภาพหรือเสียงที่ทำให้เด็กเล็กเกิดความกลัว ห้ามมีความรุนแรง
- เกมที่เหมาะสำหรับเด็กอายุ 7 ปี เป็นต้นไป – คล้ายกับเรตอายุ 3 ปี มีความรุนแรงแบบอ่อน ๆ ได้ แต่จะต้องไม่สมจริงเกินไป
- เกมที่เหมาะสำหรับเด็กอายุ 12 ปี เป็นต้นไป – มีความรุนแรงแบบธรรมชาติ ไม่ฮาร์ดคอร์ ตัวละครไม่ควรจะสมจริงมาก ไม่มีถ้อยคำสื่อความหมายทางเพศ ไม่หยาบคายมาก มีเนื้อหาเกี่ยวกับการพนันได้เล็กน้อย แต่ห้ามเชิญชวนให้เล่นพนันเด็ดขาด
- เกมที่เหมาะสำหรับเด็กอายุ 16 ปี เป็นต้นไป – ถ้ามีความรุนแรงหรือกิจกรรมทางเพศ ต้องอยู่ในระดับที่พบเห็นได้ปกติ ไม่วิปริต และมากเกินไป ภาษาหยาบคายได้แต่อยู่ในระดับที่ถูกคัดกรองระดับสูง (ตรงนี้นายกสมาคม TESF กล่าวว่ามันยังกำกวม ในร่างระบุมาอย่างนี้แต่ยังไม่แน่ชัดว่ามันเป็นยังไง)
- เกมที่เหมาะสำหรับเด็กอายุ 18 ปี เป็นต้นไป – ต้องระบุว่าเป็นเกมที่มีเนื้อหาสำหรับผู้ใหญ่ ห้ามมีความรุนแรงแบบชัดเจน เช่น ฆ่าแบบไม่มีแรงจูงใจ (นายกสมาคม TESF บอก “GTA และ Mafia น่าจะโดนห้ามขายด้วยประเด็นนี้แน่นอน”) ห้ามยุยงให้ใช้ยาเสพติด ห้ามแสดงท่วงท่ามีเพศสัมพันธ์ ห้ามข้อความหยาบคายทางภาษาอย่างชัดเจน
- เกมต้องห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร – ห้ามจำหน่ายเกมที่มีเนื้อหากระทบต่อสถาบันกษัตริย์ และประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ห้ามเหยียดหยามศาสนา ปูชนียสถาน ปูชนียบุคคล ปูชนียวัตถุ เช่น เกมที่เอาพระพุทธเจ้ามาต่อยกับพระเยซูห้ามแน่นอน ห้ามเนื้อหาที่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีกับคนในชาติ กระทบไมตรีระหว่างประเทศ ลามกอนาจารโจ่งครึ่ม ส่งเสริมให้เกิดการกระทำผิดกฎหมายอย่างชัดเจน เช่น ไล่ฆ่าแล้วเก็บแต้ม
แล้วชาวโลกเขาจัดเรตกันยังไงล่ะ
ต่างประเทศมีคณะกรรมการจัดเรตหลัก ๆ อยู่ 3 องค์กรที่หลายคนน่าจะรู้จักกันดี คือ ESRB ของอเมริกา, CERO ของประเทศญี่ปุ่น และ PEGI ของยุโรป ถ้าไม่ยกข้อมูลมาเล่ากันทั้งหมดก็อาจไม่ยุติธรรมกับคณะร่างกฎหมายของไทยนัก ดังนั้น ถ้าคิดว่ายาวไป (ไม่อ่าน) สามารถข้ามส่วนนี้ไปได้จะมีสรุปให้อีกทีด้านล่าง
Entertainment Software Rating Board (ESRB) – อเมริกา
นอกจาก ESRB จะจัดเรตโดยการติดเรตด้วยอักษรภาษาอังกฤษหน้าปกเกมแล้ว จะมีคีย์เวิร์ดสั้น ๆ เอาไว้อธิบายเนื้อหาที่จะพบภายในเกมเพิ่มเติมด้วย เช่น ระบุว่า Strong Language แปลว่า มีภาษาหยาบคาย หรือ Nutidy ที่แปลว่า โป๊เปลือย ฯลฯ ติดไว้ข้างหลังกล่องเกมอีกด้วย
- E – Everyone (ทุกเพศทุกวัย) – เป็นเกมที่เหมาะสำหรับทุกคน มีความรุนแรงในระดับอ่อน และใช้ภาษาไม่รุนแรง มักใช้กราฟิกแบบแฟนตาซีหรือภาพการ์ตูน
- E10+ – Everyone 10+ (อายุ 10 ปี เป็นต้นไป) – คล้ายกับเรต E แต่เพิ่มระดับความรุนแรงเล็กน้อย (แต่ไม่เท่าเรต “Teen”) เช่น มุกตลกหยาบคาย หรือคำพูดเสียดสี
- T – Teen (วัยรุ่น) – เหมาะสำหรับผู้ที่อายุ 13 ปี เป็นต้นไป มีความรุนแรงได้ปานกลาง (มีเลือดได้เล็กน้อย) มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการพนันและใช้ภาษาหยาบคายได้แต่ห้ามถี่
- M – Mature (อายุ 17 ปี เป็นต้นไป) – มีความรุนแรงมาก เลือดท่วม มีเนื้อหาทางเพศ โป๊เปลือยบางส่วน และภาษาที่หยาบคาย
- AO – Adult Only (อายุ 18 ปี เป็นต้นไป) – อาจมีฉากความรุนแรงแบบต่อเนื่อง เนื้อหาทางเพศที่รุนแรงขึ้น เช่น มีฉากร่วมเพศ หรือการพนันด้วยเงินจริง (เกมส่วนใหญ่ที่ได้เรตนี้ล้วนเป็นเกมลามก)
- RP – Rating Pending (อยู่ระหว่างพิจารณา) – ใช้สำหรับเกมที่ยังไม่ได้รับการจัดเรต (มักเป็นเกมที่อยู่ระหว่างการพัฒนา) แต่ต้องการนำสินค้าไปโฆษณาทำการตลาดเสียก่อน
Computer Entertainment Rating Organization (CERO) – ญี่ปุ่น
การจัดเรตของ CERO ไม่ได้ระบุรายละเอียดในแต่ละเรตอายุมากนัก โดยเรียงลำดับเรตด้วยตัวอักษร A – D และ Z โดย A หมายถึง All Ages เหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย, B เหมาะสำหรับผู้ที่มีอายุ 12 ปี เป็นต้นไป, C เหมาะสำหรับผู้ที่มีอายุ 15 ปี เป็นต้นไป, D เหมาะสำหรับผู้ที่มีอายุ 17 ปี เป็นต้นไป และ Z สำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปี เป็นต้นไปเท่านั้น แต่ที่พิเศษคือ การจัดเรตของ CERO จะมีสิ่งที่เรียกว่า Content Icons ติดไว้ข้างหลังกล่องเกมเพื่อระบุว่าเกมดังกล่าวมีเนื้อหาใด ๆ ใน 9 ประเภทต่อไปนี้อยู่หรือไม่
- Love – มีเนื้อหาเกี่ยวกับการแสดงความรัก เช่น กอดจูบ หรือความสัมพันธ์โรแมนติก
- Sexual Content – มีเนื้อหาทางเพศ หรือกิจกรรมทางเพศ ฉากโป๊เปลือยต่าง ๆ
- Violence – มีความรุนแรง เช่น การต่อสู้ บาดเจ็บ เลือดท่วม
- Horror – มีองค์ประกอบน่ากลัวภายในเกม เช่น ผี ซอมบี้ แวมไพร์
- Drinking/Smoking – มีฉากดื่มแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่
- Gambling – มีเนื้อหาเกี่ยวกับการพนัน
- Crime – มีเนื้อหาเกี่ยวกับอาชญากรรม เช่น การกระทำผิดกฎหมาย การข่มขืน ค้าประเวณี
- Drugs – มีเนื้อหาเกี่ยวกับการใช้สารเสพติด
- Language – มีภาษาหยาบคาย
Pan European Game Information (PEGI) – ยุโรป
การจัดเรตของ PEGI มีรูปแบบคล้ายกับการจัดเรตของ CERO โดยมีทั้งเรตอายุ และ Content Icons ติดไว้ข้างหลังกล่องเกม
- PEGI 3 – เหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย ไม่ควรมีภาพหรือเสียงที่จะทำให้เด็กกลัว ใช้ภาษาสุภาพ
- PEGI 7 – มีเนื้อหาที่อาจทำให้เด็กเล็กตกใจกลัว มีความรุนแรงแบบไม่สมจริงได้เล็กน้อย
- PEGI 12 – มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อยผ่านตัวละครในเกมที่ไม่สมจริง สามารถมีการเสียดสีหรือโพสต์ท่าทางทางเพศได้เล็กน้อย ภาษาหยาบคายได้นิดหน่อย มีฉากเกี่ยวกับการพนันที่เห็นทั่วไปในชีวิตจริงได้
- PEGI 16 – มีเนื้อหารุนแรงหรือกิจกรรมทางเพศอยู่ในระดับที่พบเห็นได้ปกติในชีวิตจริง มีภาษาหยาบคาย สามารถมีภาพการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือใช้สิ่งเสพติดได้
- PEGI 18 – เป็นเนื้อหาเฉพาะผู้ใหญ่ มีระดับความรุนแรงสูง มีการฆ่าโดยจงใจ ทำร้ายคนไม่มีทางสู้ การยุยงให้ใช้สารเสพติด มีฉากทางเพศแบบโจ่งครึ่ม และภาษาที่หยาบคายมาก
นอกจากเรตอายุ (ตามเลขที่อยู่ท้ายคำว่า PEGI) แล้วยังมีสิ่งที่เรียกว่า Content Descriptors ที่มีลักษณะคล้ายกับ Content Icons ของ CERO ดังนี้
- Violence – มีความรุนแรง
- Bad Language – มีภาษาหยาบคาย
- Fear – มีฉากน่ากลัว น่าตกใจ
- Gambling – มีเนื้อหาเกี่ยวกับการพนัน
- Sex – มีเนื้อหาทางเพศ
- Drugs – มีการใช้สารเสพติด ดื่มแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่ภายในเกม
- Discrimination – มีเนื้อหาเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มเคร่งศาสนา ชาตินิยม รวมถึงเรื่องอื่น ๆ ที่ส่งเสริมความเกลียดชัง เนื้อหาเหล่านี้จะถูกจัดอยู่ในเรต PEGI 18 เสมอ (และมีแนวโน้มจะละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศด้วย)
เมื่อนำวิธีการจัดเรตเกมของสากลมาเทียบกับประเทศไทย จะพบว่าร่างกฎหมายของไทยมีเนื้อหาคล้ายคลึงกับการจัดเรตของ PEGI ฝั่งยุโรปมาก โดยมีการลำดับอายุผู้เล่นเหมือนกันทั้งหมดคือเรียงตั้งแต่อายุ 3 ปี, 7 ปี, 12 ปี, 16 ปี และ 18 ปี ตามลำดับ รวมถึงคำอธิบายในการจัดประเภทยังราวกับเอาเวอร์ชัน PEGI มาดัดแปลงใหม่โดยตัดประเภทความรุนแรงที่ PEGI อนุญาตออกไปหลายส่วนรวมถึงเรื่องการพนัน แล้วเพิ่มเรตประเภทที่ 6 เข้าไปคือ “เกมที่ต้องห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร” อย่างไรก็ดี การจัดเรตเกมของไทยยังคงอยู่ในขั้นพิจารณาร่างกฎหมายและมีความกำกวมสูง ซึ่งอาจมีการปรับเปลี่ยนแก้ไขเพิ่มเติมภายหลังก่อนคลอดออกมาเป็นกฎหมายจริง