ตลาดเกมไทยหอมอบอวลมาพักใหญ่ บริษัทต่างชาติพากันแบ่งเค้กนำเกมเข้ามาขาย ทำ localization แปลไทย โฆษณาในไทย กระทั่งเกมออนไลน์หลายเกมบริษัทแม่ยังมาตั้งสาขาเองในบ้านเรา อย่างไรก็ดีอุตสาหกรรมพัฒนาเกมไทยยังไม่ไปไหน ผู้เล่นมีกำลังซื้อมาก แต่ผู้พัฒนามีกำลังผลิตน้อย หรืออีกนัยคือเขายังไม่มีต้นทุนมากพอที่จะดึงสปอตไลต์ให้ฉายแสงไปยังเกมที่ทำ บ้างก็ยังต้องการความช่วยเหลือที่ไม่รู้จะชูมือให้ใครช่วยจับดึงจากปัญหาที่จมอยู่ สมาคมฯ เกมไทยจึงถือกำเนิดเพื่อยุติปัญหานั้น
สมาคมฯ เกมไทย หรือชื่อเต็ม “สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย” (TGA) แท้จริงจัดตั้งมาตั้งแต่ปี 2006 เพื่อส่งเสริมนักพัฒนาเกมไทย อย่างไรก็ดีเพื่อภาพลักษณ์ใหม่ในยุคที่อุตสาหกรรมเกมทั่วโลกเติบโตอย่างก้าวกระโดดจึงประกาศ Rebranding ปรับโครงสร้างองค์กรให้ทันสมัย พร้อมตั้งเป้าพาเกมไทยไปเกมโลก!
คุณเจมส์ James Parimeth Wongsatayanon (ผู้กำกับเกม Timelie) ในฐานะโฆษกสมาคมได้ไลฟ์สดสั้น ๆ ผ่านเพจตนเอง สรุปข้อมูลได้ว่าสมาคมดังกล่าวคือการรวมกลุ่มของเอกชน (กลุ่มนักพัฒนาเกมไทย, ผู้จัดจำหน่ายเกม และนักการตลาด ฯลฯ) ผนึกกำลังเพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นตัวกลางเพื่อช่วยเหลือ สนับสนุน รวมถึงผลักดันวงการเกมด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ให้คำปรึกษานักพัฒนาเกม, ประสานงานหาทุนพัฒนาเกม, จัดประกวดสร้างเกม, จัดงานอีเวนต์ ฯลฯ โดยคุณเจมส์ได้แอบเกริ่นเอาไว้สั้น ๆ ว่าภายในปีนี้สมาคมอาจจัดนิทรรศการเกมของตัวเองอีกด้วย ทั้งนี้นักพัฒนาที่ต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อเข้าไปที่สมาคมได้ทุกช่องทาง ไม่เว้นแม้แต่กล่องข้อความเพจ
สมาคม TGA จะมีรายชื่อกรรมการดังต่อไปนี้
1.เนนิน อนันต์บัญชาชัย (บริษัท Extend Interactive) เป็นนายกสมาคม
2.นายสำเร็จ วจนะเสถียร (บริษัท CASA W Production) และคุณนายศรัณย์พัจน์ เสรีวิวัฒนา (บริษัท Cloud Colour Games) ร่วมเป็นอุปนายก
3.กรรมการอีก 4 ท่านได้แก่ นายจตุพร รักไทยเจริญชีพ (บริษัท Innova Interactive Studio) นายณยศ มังคโลดม (บริษัท Teapot Studio) นายปริเมธ วงศ์สัตยนนท์ (บริษัท Urnique Studio) และนายกิตติพงษ์ ดวงดีไพศาล (บริษัท Shin-A Service) โดยทุกคนมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 2 ปี
สามารถติดตามกิจกรรมของสมาคมได้ที่เพจ: TGA