เมื่อ 14 เมษายน ที่ผ่านมา Animal Crossing ซีรีส์เกมจำลองวิถีสโลไลฟ์สุดน่ารักของนินเทนโดมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์แล้วนะครับ โดยภาคแรกของซีรีส์นั้นใช้ชื่อว่า Animal Forest (หรืออีกชื่อ Dobutsu no Mori) เป็นเกมที่พัฒนาให้กับเครื่อง Nintendo 64 และวางจำหน่ายครั้งแรกเมื่อ 14 เมษายน 2001 ณ ประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันเนื่องในวันครบรอบนี้ทางสำนักงานใหญ่ Nintendo ได้ออกอัลบั้มเพลงประกอบและ Artwork พิเศษน่ารัก ๆ จากเกมออกมาให้ยลโฉมกันด้วย อย่างไรก็ตามทุกคนทราบกันหรือไม่ครับว่าเดิมทีแล้วเกมนี้ไม่ได้มีแผนจะทำออกมาเป็นเกมใช้ชีวิตชิล ๆ ในหมู่บ้านแบบนี้ หากแต่มีคอนเซ็ปต์แบบเกม RPG ตีมอน ลงดันมาก่อนแทนซะงั้น
Nintendo ให้ความสำคัญกับเกมเพลย์เป็นสิ่งแรก
แต่ละครั้งที่นินเทนโดทำเกม ทีมงานมักจะไม่ได้คิดถึงประเด็นด้านเนื้อเรื่องหรือฉากหลังโลกเกมขึ้นก่อนเป็นอันดับแรก แต่สิ่งที่ผุดขึ้นมาลำดับหนึ่งมักเป็นคอนเซ็ปต์ของเกมเพลย์แทน อ้างอิงจากคำกล่าวของคุณ Katsuya Eguchi บิดาผู้ให้กำเนิด Animal Crossing แล้ว ดูเหมือนว่าในกรณีของ Animal Crossing ก็ไม่ต่างกัน สมัยนั้นด้วยความที่เครื่อง Nintendo 64 มีลูกเล่นพิเศษที่เพิ่งถูกพัฒนาขึ้น อาทิ RTC (Real-time clock) และความสามารถในการจุข้อมูลปริมาณมาก ทำให้คุณ Eguchi อยากจะนำจุดเด่นของเทคโนโลยีนี้ไปสร้างเกมอะไรสักอย่าง
“Animal Crossing เริ่มต้นมาจากไอเดียที่ว่าเราสามารถใช้ 64DD (อุปกรณ์เสริมของเครื่อง 64 ทื่ทำให้ความจุเกมเพิ่มขึ้น) มาสร้างเซฟเกมที่มีข้อมูลขนาดใหญ่อย่างที่ไม่เคยทำกันมาก่อนได้ ในตอนนั้น ธีมที่ผมสนใจคือ “การเล่นกับคนอื่น” ดีไซน์เริ่มต้นของเกมจึงเป็นการผจญภัยบนโลก RPG ที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่มาก และคนมากมายสามารถเข้ามาร่วมเล่นในโลกของเกม โดยที่การกระทำของผู้เล่นแต่ละคนจะส่งผลกระทบต่อผู้เล่นคนอื่น ๆ” คุณ Katsuya Eguchi กล่าว
เพราะผู้กำกับไม่มีเวลาเล่นเกมกับลูก
แม้ว่าเครื่อง Nintendo 64 จะพ่วงจอยที่ทำให้คุณเล่นเกมกับเพื่อนไปพร้อมกันได้ แต่เกม Multiplayer ที่คุณ Eguchi และ คุณ Hisashi Nogami กำกับร่วมกันนั้นมีจินตนาการที่ต่างออกไป สิ่งที่พวกเขาวาดภาพไว้ในหัวคือเกมที่ผู้เล่นสามารถเล่นไปด้วยกันได้ แต่ไม่จำเป็นต้องนัดเวลาเล่นพร้อม ๆ กัน อีกนัยหนึ่งก็คือเป็นเกม RPG ที่จะสลับตาเล่นไปเรื่อย ๆ
เมื่อถูกถามถึงโครงสร้างเกมดังกล่าว คุณ Eguchi ก็อธิบายรูปแบบที่เคยคิดไว้คร่าว ๆ ดังนี้ “ยกตัวอย่างนะ สมมติว่าตอนเช้าพวกเด็ก ๆ เล่นผจญภัยไปในดันเจี้ยน สักพักพวกเขาก็จะเผชิญกับอุปสรรคที่ผ่านไปด้วยตัวเองไม่ได้ ที่นี้แหละ พอคุณพ่อกลับถึงบ้านช่วงดึกก็จะได้เล่นต่อจากลูก โดยอาศัยข้อมูลสถานการณ์ที่ลูก ๆ ทิ้งไว้ให้เป็นคำใบ้ในการเคลียร์ดันเจี้ยนและช่วยพาตัวละครที่ลูกเล่นในเกมไปพื้นที่ต่อไป ผมอยากรู้ว่าเกมที่ต้องสลับกันเล่นเป็นตา ๆ ไปแบบนั้นจะเป็นยังไง”
ที่มาของชื่อ Animal Crossing
“มันมี RPG มากมายที่ให้คุณได้เล่นเป็นผู้กล้า แต่เกมที่ผมจินตนาการไว้ตัวเอกจะไร้พลัง และผมก็คิดว่า โอเค สิ่งที่ผู้เล่นจัดการไม่ได้ ก็ให้ผู้เล่นยืมพลังจากสัตว์ในการก้าวผ่านมันไปเอา นี่เป็นที่มาของสัตว์ (Animal) ในโปรเจกต์นี้”
คุณ Nogami และ Eguchi อธิบายต่อว่า ผู้เล่นแต่ละคนจะมีสัตว์ของตัวเองที่ไม่ซ้ำกันซึ่งสัตว์แต่ละชนิดจะมีจุดเด่นและด้อยต่างกันไป ผู้เล่นที่ไร้พลังจะต้องสั่งการสัตว์ของตัวเองเพื่อเคลียร์ดันเจี้ยน แต่เมื่อเล่นมาถึงจุดหนึ่ง ผู้เล่นก็จะเจออุปสรรคไม่สามารถไปต่อได้ด้วยสัตว์ที่มีตัวเองมี ซึ่งจะเปิดช่องทางให้ผู้เล่นคนถัดไปซึ่งอาจจะเป็นคุณพ่อ มาใช้ตัวละครและสัตว์ของเขาช่วยในการเคลียร์ ในส่วนของแมพนั้นตัวเกมจะมีเกาะทั้งหมด 4 แห่ง ซึ่งแต่ละเกาะก็จะมีฤดูกาลและสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน แถมมีดันเจี้ยนหลายแห่งบนเกาะให้ผู้เล่นได้ไปผจญภัยอย่างจุใจ
นับเป็นคอนเซ็ปต์ที่สดใหม่และน่าประทับใจมากแม้แต่ในวงการเกม RPG เอง แต่เป็นที่น่าเสียดาย เพราะแม้ว่าเกมกำลังอยู่ในกระบวนการพัฒนาแล้วก็ตาม แต่การพัฒนาอุปกรณ์เสริม 64DD ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรในระดับที่เรียกว่าเป็นหนึ่งในตำนานโปรเจกต์สุดพังของนินเทนโดเลยก็ว่าได้ ไม่นานนัก 64DD ก็ถูกยกเลิกการผลิตไปอย่างถาวร เหตุการณ์ดังกล่าวบีบบังคับให้ทั้ง 2 ผู้กำกับและทีมงานต้องพัฒนาเกมนี้ลงในรูปแบบตลับเกม Nintendo 64 ธรรมดา ซึ่งแน่นอนว่าจุข้อมูลได้น้อยกว่าที่วางแผนไว้ จึงจำเป็นต้องตัดคอนเทนต์ต่าง ๆ ทิ้งไปมากมาย ระบบสัตว์และดันเจี้ยนถูกโละ จากเกาะใหญ่สี่เกาะกลับหดลงเหลือเพียงหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ไม่สามารถผจญภัยอะไรได้มากนัก และท้ายสุดก็ตัดความเป็น RPG ทิ้งไปด้วยเช่นกัน จึงออกมาเป็นเกมจำลองการใช้ชีวิตที่ปล่อยให้ผู้เล่นได้มาใช้ชีวิตบนพื้นที่เดียวกันได้ ช่วยกันทำงานเก็บเงินและแต่งเติมหมู่บ้านด้วยกันได้แทน
ผมได้ยินเรื่องของคุณพ่อคนหนึ่งที่มักกลับบ้านดึกเสมอ เมื่อถึงบ้านเขาจะตรงไปเล่น Animal crossing พร้อมอ่านจดหมายที่ลูกชายส่งถึงเขาผ่านเกมนี้ในแต่ละวัน “ดีฮะคุณพ่อ วันนี้ผมทำนั่นและนี่ด้วยแหละ” ในฐานะพ่อ เขาไม่เคยลืมว่าลูกเขาต้องการอะไร เพราะงั้นทุกคืนเขาจะพยายามหาไอเทมเหล่านั้นจนเจอ แล้วแนบมันไว้ในจดหมายพร้อมตอบกลับลูกไปว่า “พ่อหาเจอแล้วนะ”
Satoru Iwata อดีตประธานนินเทนโด
จากเรื่องราวข้างต้น แม้น่าเสียดายที่ท้ายที่สุดคอนเซ็ปต์เกม RPG จะไม่มีโอกาสได้ออกวางจำหน่ายให้ชาวเราได้ลองเล่นกัน อย่างไรก็ดี Animal Crossing ก็ได้แบกรับความปรารถนาอันบริสุทธิ์ของเหล่าคุณพ่อที่กลับบ้านสายและสานต่อภารกิจเล่นเกมกับลูกจนสำเร็จ สมดังความต้องการแรกเริ่มของผู้ให้กำเนิดที่อยากสานต่อภารกิจครอบครัวแสนอบอุ่นที่ถึงแม้เราไม่ค่อยมีเวลาให้กันในชีวิตจริง แต่คุณพ่อจะคอยอยู่ตรงนี้ เคียงข้างลูก ๆ จากในเกมอยู่เสมอ ช่างเป็นเกมที่มีที่มาแสนบริสุทธิ์และงดงามจริง ๆ