ไม่กี่วันที่ผ่านมาเกิดกระแสเกมใหม่มาแรง ด้วยเหตุเพราะโมเดล NPC (non-playable character) หน้าไปคล้ายผู้นำประเทศสารขัณฑ์ เกม Hopeland เปิดตัวเปรี้ยงเหมือนสายฟ้าที่ผ่าแล้วดับไปอย่างรวดเร็ว เนื่องเมื่อขุดข้อมูลพบว่าหนึ่งในผู้สร้างเกมนี้มีอดีตผู้พัฒนาเกม Deadsea อยู่ในทีมด้วย จึงทำให้หลายคนกังวลว่าเกมใหม่อาจจะจบไม่สวยเหมือนที่เขาเคยทิ้งร้างให้สองเกมก่อนหน้าวนอยู่ในวัฏจักรของเกมที่สร้างไม่เสร็จ วางขาย และเลิกพัฒนาต่อ อีกหรือไม่
เมื่อสังคมต้องการคำตอบ แต่ไม่มีใครได้โอกาสถาม คุณกู้เจ้าของช่องยูทูบ Coolerist จึงเชิญเจ้าของโปรเจกต์ Hopeland มาพูดคุยตอบข้อสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับ Deadsea และ Hopeland คืออะไร ได้ความสรุปเป็นข้อ ๆ ดังนี้
1.) วรุฒ เป็น Game Designer เจ้าของโปรเจกต์ Deadsea ส่วนสุกฤติเป็น Programmer เจ้าของโปรเจกต์ Hopeland ทั้งคู่เพิ่งรู้จักกันได้ประมาณ 1 ปี เจอกันจากกลุ่มเฟซบุ๊กแชร์ผลงานผู้พัฒนาเกม ยังไม่เคยเจอตัวจริงกันแต่ตกลงร่วมงานกันทำเกม Hopeland ขึ้นมา
2.) ย้อนความไป 6 ปีก่อน Deadsea ถือเป็นโปรเจกต์ลองทำของวรุฒ เขาใช้ Cryengine สร้างเกมแล้วส่งให้คนรู้จักที่เป็นยูทูบเบอร์เล่น ต่อมาเรื่องไปถึงหูนักข่าวจนมีการขอสัมภาษณ์ ทีแรกเขาไม่ได้คิดจะทำเกมขายจริง ๆ แต่เมื่อโดนถามถึงแผนการถัดไป ขณะนั้นเล่นเกม Dayz อยู่ ชอบระบบในเกมจึงตอบ ๆ ไปว่าอยากได้คล้ายเกมนี้ เมื่อเกิดแนวคิดอยากทำ จึงระดมทุนเพื่อจ้างทีมงาน แต่สุดท้ายได้เงินไม่ตามเป้าจึงคืนเงินไป
3.) ได้รู้จักระบบ Steam Greenlight ที่ให้คนมาโหวตเกมที่อยากให้ขึ้นขายบน Steam จากคนรู้จักที่เคยทำเกมมาก่อน เขาแนะนำว่าต้องจ้างผู้จัดจำหน่ายต่างประเทศเพื่อนำเกมขึ้นร้านค้า เพราะยุคนั้น Steam ยังไม่รองรับเอกสารทางการเงินของไทย วรุฒตกลงจ้างผู้จัดจำหน่ายที่คนรู้จักแนะนำ ซึ่งผู้จัดจำหน่ายจะควบคุมระบบหลังร้านทั้งหมด ตัววรุฒเองเข้าไปแก้ไขข้อมูลหน้าเกม Deadsea ไม่ได้เลย ขณะที่เขากำลังลองผิดลองถูก ทำเกมเองโดยไม่มี Programmer ก็เกิดข่าวดังว่า Deadsea วางจำหน่ายแล้ว
4.) วรุฒติดต่อขอให้ผู้จัดจำหน่ายยกเลิกการขาย แต่ได้รับคำตอบว่า “วางขายไปแล้ว ไม่เป็นไรหรอก ปล่อย ๆ ไป” เขาจึงต้องรีบหามรุ่งหามค่ำไม่ได้นอน 3 วัน เพราะต้องรีบทำอะไรก็ได้ยัดลงไปในเกม เนื่องจากขณะปล่อยขาย ระบบหลังบ้านยังไม่เคยอัปโหลดไฟล์ใด ๆ ลงไปเลย คนที่ซื้อไปจึงไม่ได้อะไรนอกจากอากาศ
5.) ทราบภายหลังว่าผู้จัดจำหน่ายรายนี้มักกว้านซื้อเกมเก่า ๆ หรือเกมเล็ก ๆ มาปล่อยขาย กินค่าส่วนต่าง แม้เกมจะราคาต่ำ แต่ละเกมขายได้น้อยก็ไม่เป็นไรเพราะมีจำนวนเกมในมือมาก ทำให้บริษัทยังอยู่ได้ วรุฒเชื่อว่าเพราะปัญหาเกมวางจำหน่ายโดยยังไม่มีแม้แต่ไฟล์เกมใด ๆ ของ Deadsea ทำให้ Steam เปลี่ยนนโยบายใหม่ ยกเลิกโครงการ Greenlight และลงมือทดสอบเกมเองทั้งหมดก่อนอนุมัติให้จำหน่าย
6.) หลังได้เงินบางส่วนมาจากผู้จัดจำหน่ายก็นำไปจ้าง Programmer ฟรีแลนซ์ แต่สุดท้ายถูกหลอกให้ซื้ออุปกรณ์ทำงานแล้วฮุบของหนีหายไปหมด 4-5 คน ทำให้งบประมาณที่น้อยอยู่แล้วยิ่งร่อยหรอ ตัววรุฒเองมีความรู้เพียงด้านการทำโมเดล และฉาก จึงทำทิ้งไว้เพื่อรอมี Programmer ในสักวัน ส่วนหนึ่งที่ยังทำเพราะมีคนตั้งความหวังไว้มาก คนด่าก็เยอะเช่นกัน อย่างไรก็ดี เมื่อ Unreal Engine เปิดให้ใช้ฟรี เขาจึงเลิกใช้ Cryengine เนื่องจากข้อจำกัดมาก ทั้งนี้ จึงต้องเริ่มนับหนึ่งสร้างเกมใหม่แต่ต้นอีกครั้ง
7.) ทดลองสร้างเกมใหม่เป็นโปรเจกต์ถัดมาคือ BlackFaith เพื่อเรียนรู้ ฝึกฝนทักษะ Unreal Engine ทั้งนี้เพื่อจะนำข้อมูลทั้งหมดไปใส่ลงเกม Deadsea ภายหลัง ขณะนี้ Steam เปลี่ยนระบบใหม่แล้ว ไม่จำเป็นต้องพึ่งผู้จัดจำหน่ายต่างประเทศ วรุฒจึงทดลองเอาเกมนี้ขึ้นร้านค้า เมื่อเห็นว่ามีปุ่มให้ขายได้จึงขาย แต่ก็ไม่ได้มีรายได้เข้ามา
8.) ระหว่างทำ BlackFaith ก็อยากทวง Deadsea คืนจากผู้จัดจำหน่าย จึงบีบบริษัทด้วยการไม่ส่งอัปเดตใหม่ ๆ ให้ และส่งอีเมลไปขอยกเลิกสัญญาบ่อยครั้ง จนที่สุดก็ได้เกมกลับมาช่วงปี 2017-2018 สิ่งที่ทำคือปรับราคาขาย Deadsea ให้ต่ำลงเพราะรู้ดีว่าถึงลูกค้าซื้อไปก็ยังเล่นไม่ได้อยู่ดี และตนก็ไปทำเกมใหม่อยู่จึงไม่ได้อัปเดตอะไรให้ Deadsea เลย
9.) สุกฤติซึ่งเป็น Programmer หลังทำธุรกิจจนใกล้หมดตัว เขาพยายามคิดว่าจะต้องทำอะไรถึงจะรุ่งระดับโลกได้ จึงหันกลับมาเขียนเกม เนื่องจากตนมีประสบการณ์ในวงการและเชื่อมั่นในฝีมือตนเองสูง อย่างไรก็ดีเขาไม่มีทักษะด้านการทำฉาก หรือเรียบเรียงเหตุกาณ์ในเกม สุกฤติและวรุฒพบกัน 1 ปีก่อนในกลุ่มเฟซบุ๊กนักพัฒนาเกม ได้แลกเปลี่ยนความรู้ สอบถามปัญหาจนรู้ว่าต่างคนต่างมีสิ่งที่ตนเองขาด คือฝั่งนึงต้องการ Programmer อีกฝั่งต้องการคนทำฉาก จึงมาร่วมมือกันสร้างเกม Hopeland ขึ้น ภายหลังพิจารณาแล้วพบว่าเกมนี้มันคล้ายกับ Deadsea มาก จึงตัดสินใจควบรวมโปรเจกต์
10.) เมื่อทำงานร่วมกันก็กลายเป็นทีมที่เติมเต็มให้กันได้ดีเยี่ยม เกมมีความคืบหน้าอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน จากที่สุกฤติเคยเขียนโค้ดล่วงหน้ามา 3 ปีโดยที่ไม่สามารถนำมารวมเป็นฉากได้ เมื่อจับมือกับวรุฒ ความเป็นไปได้ก็เกิดขึ้น เขาจึงเชื่อว่าที่ Deadsea มีปัญหาคงเกิดเพราะผู้จัดจำหน่าย ไม่ใช่ตัววรุฒแน่นอน
11.) ปัจจุบันมีทีมงานหลัก 2 คน มีอาสาสมัครมาช่วยเป็นครั้งคราวร่วมกันทำเกม Hopeland จนคาดว่า Demo น่าจะเสร็จในไม่เกิน 3 เดือนนี้ เว้นแต่พบปัญหายุ่งยากจึงจะเลื่อนไปไม่เกินสิ้นปีนี้ ทีมยื่นขอทุนไปหลายที่ มีนายทุนใหญ่ 2 รายให้ความสนใจ แต่ยังไม่ได้ตกลงกันแน่นอนจึงยังไม่สามารถเปิดเผยชื่อนายทุนได้
12.) สุดท้าย คนที่เคยซื้อ Deadsea ไปแล้วจะได้รับอัปเกรดเป็น Hopeland ฟรี ซึ่งผู้พัฒนาทั้งสองยืนยันว่าเกมใหม่ที่จะได้รับจะคุ้มค่าแน่นอน โดยราคา Hopeland น่าจะอยู่ที่ 600 บาทขึ้นไป ทั้งนี้ หลังจากโปรเจกต์นี้เสร็จสิ้น ทางทีมจะรื้อเกม BlackFaith มาทำใหม่