ทำไมเราจึงรัก HEARTROCKER ชายชื่อ “เอก” เจ้าของช่องยูทูบแคสเกม (Let’s play) อันดับต้น ๆ ของประเทศ ซึ่งปัจจุบันอบอวลไปด้วยความรักของผู้ติดตาม (Subscribers) กว่า 5.91 ล้านคน ชายผู้เขย่าโลก Twitter ดินแดนซึ่งแฟนคลับ K-POP เรียกได้ว่าเป็นเจ้าถิ่นครองอันดับความนิยม Thailand Trends แทบรายวัน เมื่อ HEARTROCKER ขยับ อันดับจะสะเทือน (มีคนไม่มากนักที่จะสร้างปรากฏการณ์เหล่านี้ซ้ำ ๆ ได้บ่อยครั้ง ส่วนมากจะเป็น K-POP, การเมือง หรือกระแสสังคมขณะนั้น) ผู้เขียนจึงพยายามค้นหาคำตอบว่าทำไมเราจึงรัก และอินเทอร์เน็ตให้เฉลยว่าเพราะเขาเสียงหล่อ, หัวเราะอร่อย หรือเล่นเกมสนุก ฯลฯ คำตอบมันไม่ผิดหรอก แต่ผู้เขียนนึกสนุกว่ามันจะสวยน่ารักกว่าเดิมไหมถ้าเราเติมสตอรีของจิตวิทยาเข้าไปไขปริศนาของปรากฏการณ์ “HEARTROCKER” ครั้งนี้
ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณ Ego สำหรับคำปรึกษาด้านวิชาจิตวิทยามา ณ ที่นี้
มีการทดลองและแนวคิดทางจิตวิทยามากมายที่มนุษย์ค้นพบเพื่อนำมาให้คำตอบ โน้มน้าว หรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคน และศาสตร์แห่งการหาเหตุผลทางจิตของมนุษย์นี้อาจใช้ตอบคำถามธรรมดา ๆ อย่าง “ทำไมเราจึงรัก HEARTROCKER” ได้อย่างมีชั้นเชิง
ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิก
“เรารักพี่เอกเพราะพี่เอกคือพี่เอกหรือเรารักผลงานของพี่เอกแล้วเราจึงรักพี่เอก” เริ่มทฤษฎีแรกก็งงแล้ว ผู้อ่านบางท่านอาจเริ่มสงสัยว่า เฮ้ย! เรื่องแค่นี้มีทฤษฎีอะไรวุ่นวายขนาดนี้เลยเหรอ หากเป็นอย่างนั้นผู้เขียนก็ดีใจเพราะการสงสัยเป็นจุดเริ่มต้นให้คนรู้จักคิดหาคำตอบครับ หลักการนี้ค้นพบโดย Ivan Petrovich Pavlov (นักสรีรวิทยาและนักจิตวิทยาชาวรัสเซีย) จากน้ำลายหมา ผงเนื้อ และเสียงกระดิ่ง โดยปกติหมาจะน้ำลายไหลเมื่อมีคนนำอาหารมาให้ซึ่งในที่นี้คือผงเนื้อ แต่จะเฉย ๆ เมื่อได้ยินเสียงกระดิ่ง การทดลองต่อไปนี้จะทำให้หมาน้ำลายไหลโดยได้ยินเพียงเสียงกระดิ่งอย่างเดียว
การทดลองมีทั้งหมด 4 ขั้นตอน สรุปแบบรวบรัดเรียงลำดับได้ดังนี้
- สั่นกระดิ่งอย่างเดียว ผลคือหมาเฉย ๆ น้ำลายไม่ไหล
- นำผงเนื้อให้หมากิน ผลคือหมาน้ำลายไหล
- นำผงเนื้อให้หมากินพร้อมกับสั่นกระดิ่ง ผลคือหมาน้ำลายไหล
- สั่นกระดิ่งอย่างเดียว ผลคือหมาน้ำลายไหล
จากการทดลองทำให้เห็นว่าปกติแล้วสิ่งเร้าที่เป็นกลาง (เสียงกระดิ่ง) ไม่อาจก่อให้เกิดการตอบสนองได้ (น้ำลายไม่ไหล) แต่หากนำมาวางเงื่อนไขโดยการสั่นกระดิ่งพร้อม ๆ กับให้ผงเนื้อแล้วล่ะก็หมาจะน้ำลายไหล หลังจากนั้นเมื่อเรานำกระดิ่งมาสั่นแบบเดี่ยว ๆ ก็จะสามารถทำให้หมาน้ำลายไหลได้เช่นกัน เรียกว่า “การตอบสนองที่ถูกวางเงื่อนไข” B. F. Skinner นักจิตวิทยาชาวอเมริกันนำทฤษฎีนี้มาปรับปรุงต่อยอดเป็น “ทฤษฎีการเสริมแรง” ซึ่งสามารถนำมาใช้เปลี่ยนพฤติกรรมมนุษย์ได้ เมื่อย้อนกลับมาตอบคำถามว่าทำไมเราจึงรัก HEARTROCKER ก็อาจตอบได้จากทฤษฎีเหล่านี้ว่า ปกติพี่เอกก็เป็นแค่คนธรรมดาที่ไม่ได้มีใครสนใจ ต่อให้เดินผ่านหน้าก็คงเมินเป็นสิ่งเร้าที่เป็นกลางไม่ก่อให้เกิดการตอบสนองใด ๆ แต่เพราะพวกเราที่ชื่นชอบวิดีโอเกม ชื่นชอบความบันเทิง ชอบเสียงหัวเราะอร่อย ๆ อยากดูเกมเพลย์ของเกมที่ชอบ หรือบางรายซึ่งมาทีหลังหลังจากที่กลุ่มแฟนคลับ HRK ขยายใหญ่โตแล้ว รู้สึกว่านี่คือสังคมเกมที่เขาเป็นส่วนหนึ่ง ได้เป็นสมาชิกด้อมร้อนในจึงเกิดความพึงพอใจ (มนุษย์มีความต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอยู่แล้ว) ฯลฯ สิ่งเหล่านี้คือความต้องการของเราตามธรรมชาติที่ไม่ต้องวางเงื่อนไข แต่เมื่อสิ่งเร้านี้เกิดขึ้นโดยตัวตนของ HEARTROCKER ด้วยเหตุนี้เราจึงถูกวางเงื่อนไขด้วยผลงานและเสน่ห์ให้ตกหลุมรักชายผู้นี้อย่างโงหัวไม่ขึ้นนั่นเอง
ถูกวางเงื่อนไขให้รัก รู้สึกสนิทแม้ไม่เคยเห็นตัวจริงใต้หน้ากาก
เคยเอะใจไหมครับว่าเราสามารถรักคนคนนึงโดยที่ไม่เคยเห็นหน้าได้จริงเหรอ ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยพบกันจริง ๆ แต่ทำไมกลับรู้สึกสนิท บางครั้งถึงกับเป็นที่พึ่งทางใจให้ใครหลายคน ภาวะนี้ทางจิตวิทยาเรียกว่า “Parasocial Relationship หรือการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกึ่งความจริง” ครับ ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกันที่สามารถใช้จำกัดความความรักระหว่างแฟนคลับและไอดอล หรือแม้กระทั่งความหลงใหลตัวละครในการ์ตูนจนอยากแต่งงานด้วยได้เช่นกันครับ เอ่อ…ตัวอย่างข้อหลังนี่อาจใช้กับกรณี “แต่งค่ะ” ของ HEARTROCKER ได้ด้วยนะ ใครจะไปรู้ (ฮ่า ๆ)
มีนักวิจัยหลายคนสนใจเรื่องปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกึ่งจริงดังกล่าว และสรุปได้ว่ามันคือความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นข้างเดียวซึ่งมักเกิดขึ้นในกลุ่มแฟนคลับกับศิลปิน เมื่อเราเสพสื่อจากบุคคลที่เราชื่นชอบบ่อยครั้ง และหากคนนั้นสามารถสื่อสารฝ่ายเดียวมาถึงเราให้เหมือนกับกำลังคุยเป็นเพื่อนเราอยู่ได้ก็ยิ่งเพิ่มระดับความใกล้ชิด (คล้ายกับการ Break the Fourth Wall ที่ตัวละครในสื่อหันมาคุยกับเรา เช่น ในหนัง Deadpool) และดูเหมือนข้อเท็จจริงนี้ต้นสังกัดไอดอลก็ทราบดีจึงมักจัดกิจกรรมใด ๆ ก็ตามให้แฟนคลับกับศิลปินได้เพิ่มระดับความสัมพันธ์มากขึ้น เช่น งานจับมือ, การไลฟ์สดพูดคุยกับแฟน ๆ ความสัมพันธ์นี้สามารถพัฒนาได้เหมือนการคบเพื่อนหรือแฟนในโลกความจริง กล่าวคือเราอาจงอน โกรธ HEARTROCKER แม้เขาจะไม่รู้ตัวเลยก็ตาม (แต่สุดท้ายก็ต้องหายเองนะ) แม้ภาวะแบบนี้จะอยู่กึ่งกลางความจริง คนที่เราชอบอาจไม่เคยมาป้อนข้าว ป้อนน้ำ ยามเราป่วย แต่กลับมีผลด้านจิตใจให้เราอย่างมาก บางรายแค่ได้ดูคลิปของ HEARTROCKER ก็อาจมีกำลังใจจะใช้ชีวิตในแต่ละวันได้เลย คนที่ตกอยู่ใต้ภาวะเหล่านี้ไม่ได้มีปัญหาทางจิตแต่อย่างใดไม่ต้องเป็นกังวล แต่ถ้าให้กล่าวตามตรงไม่ว่าวงการไหน ๆ ก็จะมีคนที่ล้ำเส้นกึ่งจริงเสมออย่างที่เรามักเห็นข่าวแฟนคลับก่อปัญหาเพียงเพื่อเรียกร้องความสนใจจากไอดอลที่ตนชอบนั่นเอง อย่างไรก็ดีด้อมร้อนในของตาเอก HEARTROCKER ไม่มีคนนิสัยไม่ดีแบบนั้นอยู่หรอก ใช่ไหม!
สรุปแล้วพวกเราน่ะถูกวางเงื่อนไขให้รักด้วยทุกสิ่งที่เขาทำ ทัศนคติที่เขามี นิสัยที่เขาเป็น การเล่าเรื่องเกมอย่างสนุกสนาน หรือแม้กระทั่งเสียงหัวเราะอร่อย ๆ และปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมาย จนแม้ขณะไม่ได้นั่งดูคลิป หรือพี่แกดองงานเงียบหายไปก็ไม่อาจทำให้เลิกรัก แต่ก็ไม่ต้องกังงลว่าเราจะเป็นคนผิดแปลกที่หลงใหลชายใต้หน้ากากซึ่งไม่เคยรู้จักในโลกความจริง หรือบางครั้งเฝ้าพร่ำบอกอยากขอแต่งงานด้วย ตราบใดที่ไม่ได้ก่อปัญหาสร้างความเดือดร้อนให้ใคร ความสัมพันธ์ที่อบอวลไปด้วยความรักมากมายขนาดนี้ย่อมเป็นสิ่งที่สวยงาม
บทความนี้ผู้เขียนขอเป็นตัวแทนของสื่อ GAMERGUY อุทิศให้แก่ HEARTROCKER เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเกิดอายุครบ 28 ปี มีคนรักพี่เยอะมาก ๆ นะ รู้ไหม
- smarterlifebypsychology.com
- dek-d.com
- cuir.car.chula.ac.th
- smarterlifebypsychology.com
- pws.npru.ac.th
- yru58.blogspot.com