“ไซคลอปส์ (Xyclopz) หรือแชมป์ ตรีภพ เที่ยงตรง” นี่คือบทสัมภาษณ์ที่จะพาให้คุณไปรู้จักกับชายผู้บุกเบิกการแข่งขันทัวร์นาเมนต์เกม Dota 2 ที่มีผู้เข้าร่วมจากทั่วโลก อะไรหล่อหลอมให้เขากลายเป็นผู้ที่ยืนอยู่บนจุดสูงสุดของวงการพากย์การแข่งขันเกม (Esports commentator) เป็นนักพากย์ระดับโลก ระหว่างเส้นทางความสำเร็จชายผู้นี้ผ่านบททดสอบอะไรมาบ้าง มาหาคำตอบกันในบทสัมภาษณ์นี้
ผู้บุกเบิกการแข่งขัน Dota 2 ตั้งแต่ปี 2013
“ผมเป็นเด็กที่เล่นเกมมาตลอด ตั้งแต่ ป.6 เล่นมาเรื่อย ๆ จนเรียนจบมหาลัยแล้วมาทำงานประจำเป็นวิศวกร หลังว่างจากเวลางานผมก็จะเล่นเกม เล่นไปสักพักก็อยากรู้ว่าทีมไหนเก่งที่สุดใน SEA (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) เลยคิดดูว่าลองจัดแข่งดีไหม ย้อนไปปี 2013 ยังไม่เคยมีใครจัดแข่ง (เกม Dota 2) ผมจัดเป็นรายแรก พบว่ามันประสบความสำเร็จ เพราะมีทีมสมัครลงแข่งเยอะมาก”
คนธรรมดาที่หลายทีมยอมเข้าร่วมรายการแข่ง
“สมัยนั้น Dota2 เพิ่งเข้ามา ทุกคนซึ่งเล่นเกมนี้อยู่แล้วก็อยากจะลองสู้กับทีมอื่น อยากวัด อยากเทียบอันดับว่าเราอยู่ตรงไหน ทัวร์นาเมนต์ผมไม่มีเงินรางวัล เพราะผมไม่มีตังค์ แต่ทุกคนก็ยอมที่จะมาแข่งเพราะอยากรู้ว่าตัวเองเก่งแค่ไหน (แข่งออนไลน์)”
ไม่มีเงินจ้างใคร จึงตัดสินใจพากย์การแข่งที่จัดขึ้นด้วยตนเอง
“มีผู้เล่นจากหลายประเทศเข้าร่วมการแข่งเยอะมาก อินเดีย เยอรมันก็มี เขายอมเล่นข้ามทวีปเพื่อที่จะได้ลองแข่ง กลายเป็นทัวร์นาเมนต์ใหญ่ที่ผมไม่ได้คาดคิด เราก็เลยคิดว่าต้องเพิ่มคุณภาพของรายการสักหน่อย จึงไปตามหานักพากย์ (ต่างชาติ) ให้มาพากย์กับทัวร์นาเมนต์ของผม แต่ด้วยความที่ไม่มีเงินก็เลยไม่มีใครยอมทำให้ จนถึงวันแข่งขันผมไม่มีทางเลือกก็เลยต้องพากย์เอง และด้วยความที่มีหลากหลายประเทศจึงจำเป็นต้องพากย์ภาษาอังกฤษ ตอนแรกถูกด่าว่าพูดภาษาอะไรวะ ฟังไม่รู้เรื่อง (ตอนแรกพากย์เป็นภาษาไทย) ก็เลยเข้าไปมั่วเลยเพราะตอนนั้นผมพูดภาษาอังกฤษแทบไม่ได้”
การพากย์กลายเป็นพื้นที่เรียนรู้ภาษาอังกฤษ
“เราเรียนภาษาอังกฤษด้วยการพากย์ ผมพากย์ทุกวัน และพอมีพื้นที่ให้ใช้ภาษาอังกฤษ ทักษะมันก็เริ่มดีขึ้นเรื่อย ๆ ผมว่าที่เมื่อก่อนเราพูดไม่ได้ รวมถึงปัญหาของเด็กไทยสมัยนี้ก็คือเราไม่มีพื้นที่ให้ใช้ภาษาอังกฤษ เวลาเราพูดอังกฤษกับเพื่อน มันก็จะถามว่าเป็นไร? ตอนที่พากย์ คนที่เข้ามาดูเขาก็ฮากัน เฮ้ย! ไอนี้พูดอะไร๊! แต่ว่าคนดูต่างประเทศเขาค่อนข้างจะใจกว้าง เอาน่ะ! อย่างน้อยไอนี่ก็พยายาม”
โชคดีที่ไม่ได้เกิดในยุคนักพากย์เต็มเมือง
“ปกติเวลาไปให้สัมภาษณ์ที่ไหนคนก็มักจะถามว่าคุณมีใครเป็นไอดอลด้านการพากย์ ผมไม่มี! เพราะตอนที่ผมเข้ามาพากย์ ผมไม่รู้จักโลกแห่งนี้เลย ไม่รู้ว่าต้องทำไง รู้สึกว่าโชคโคตรดี เพราะมันทำให้เรากลายเป็นนักพากย์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะมาก ๆ ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาของนักพากย์รุ่นใหม่ ๆ เพราะเขาเติบโตมาในยุคที่เห็นใครบางคนพากย์อยู่แล้ว เลยกลายเป็นว่าเขากลายเป็นเหมือนกับไอดอลของเขา เวลาผมฟังเขา ผมรู้เลยว่าเขาชอบดูใคร”
วัตถุดิบที่ก่อร่างเอกลักษณ์เฉพาะตัว
“นักพากย์รุ่นใหม่หลายคนคิดว่าการจะเป็นนักพากย์ที่ดี เราต้องทุ่มเทกับเกม เราต้องนั่งดูเกมทั้งวัน มันไม่ใช่อะ! เราต้องออกไปข้างนอกเพื่อเก็บวัตถุดิบ ต้องออกไปดูโลก ไปดูอีเว้นท์แปลก ๆ เช่นงานศิลปะ งานดนตรี ไปเที่ยว แล้วสิ่งเหล่านั้นมันจะหล่อหลอมให้เราสร้างงานที่พิเศษออกมาได้ ผมมองว่าว่างานของผมเป็นศิลปะ”
Go inter
“จากการจัดแข่งครั้งแรก ผมเริ่มอยากลองพากย์อีก เลยไปขอพากย์ตามงานแข่งต่าง ๆ ฟรี ทำอย่างนี้อยู่ปีครึ่งจนเริ่มท้อ และคิดว่าหรือเราจะโฟกัสกับงานประจำของเราดี จนสุดท้ายตั้งธงไว้ว่าเราจะพากย์อีกสักอาทิตย์แล้วค่อยคิดว่าจะเอายังไงต่อ ก่อนผมจะเลิกพากย์ 3 วัน ผมได้ข้อเสนอที่สำคัญที่สุดในชีวิตผม คือข้อเสนอให้ผมไปพากย์ในสตูดิโอที่ใหญ่ที่สุดของโลก Dota 2 ในอเมริกาซึ่งผมก็ยังทำ (กับสตูดิโอนี้) มาจนถึงเมื่อ 3 ชั่วโมงที่แล้ว”
“ในการพากย์อีสปอร์ตเราจะเห็นได้เลยว่ามีคนดูอยู่กี่คน ช่วงแรกผมมีคนดูอยู่แค่ประมาณ 10-20 คน แต่สิ่งที่เราไม่รู้คือในตัวเลขนั้นคือใครบ้างในชีวิตจริง เราทำได้แค่เต็มที่กับมันทุกครั้ง ผมก็บ้า ๆ บอ ๆ 200% ทุกครั้งไม่ว่าจะมีคนดูกี่คน มันกลายเป็นว่า 1 ใน 20 คนตอนนั้นคือโปรดิวเซอร์ของสตูดิโอนี้ เขาบอกผมว่าเขาตามดูผมมานานแล้ว และอยากให้โอกาสให้ผมลองพากย์ในรายการที่เขาเป็นผู้จัด”
วัฒนธรรมเหยียดของคนไทยเป็นปัญหา
“ผมเคยมีปัญหาเหยียดเพศอยู่ครั้งหนึ่งโดยที่ตัวผมไม่ได้คิดอะไร แต่เป็นเพราะวัฒนธรรมไทยมันทำให้เรามองว่า เอ้ย! ไม่เป็นไรหรอก เรื่องมีอยู่ว่าตอนนั้นมีโปรเพลเยอร์หญิงคนนึงที่เก่งมากจนถึงขั้นแข่งในระดับเดียวกับผู้ชายได้ ตอนพากย์ผมเรียกเขาว่า That girl ทำให้ผมโดนกลุ่มเฟมินิสต์ (กลุ่มสิทธิสตรี) สับเละ เห้ย! เรียกชื่อเขาไม่ได้เหรอ เขามีชื่อ เป็นผู้หญิงแล้วแข่งไม่ได้เหรอ โห! ตอนนั้นผมต้องออกแถลงการณ์ขอโทษ หลังจากวันนั้นผมก็จำไว้เลย”
“ประเทศเราเป็นประเทศที่เหยียดเชื้อชาติ เหยียดเพศอันดับต้น ๆ ของโลกเลยนะ อย่างในรายการตลก มันจะมีแบบแซวผู้หญิง ‘โห! น้องนี่ลูกโป่งปะเนี่ย’ ถ้าผมเอาไปใช้กับฝรั่งผมโดนตื้บอะ แต่ถึงจะไม่ได้เอาไปใช้ ตามสามัญสำนึกแล้ว รูปร่างหน้าตา แบบเราไปเจอกันตามงานแล้วถาม เห้ย พี่เป็นไงบ้าง โห! ผอมลงปะเนี่ย อ้วนขึ้นรึเปล่า เพื่อ?”
คิดเห็นยังไงที่ผู้ใหญ่บ้านเมืองบอกว่าอีสปอร์ตไม่ใช่กีฬา
“ผมไม่ค่อยสนใจว่าอีสปอร์ตจะใช่หรือไม่ใช่กีฬาสักเท่าไหร่ เพราะผมมองตามหลักความจริงว่ามันก็คือเกมอะ ผมอาจเรียกว่าตัวเองเป็นคนพากย์อีสปอร์ต แต่สุดท้ายมันก็คือการแข่งเกม จะเรียกว่าอะไรก็ได้ วิดีโอเกมทัวร์นาเม้นต์ก็ได้ผมไม่ซีเรียส”
หมายเหตุ: เผยแพร่บทสัมภาษณ์ครั้งแรก 23/9/2018 ปรับปรุงเนื้อหาเพื่อเผยแพร่ใหม่วันที่ 04/02/2021